การสร้างแบรนด์เป็นส่วนสำคัญของการเริ่มต้นธุรกิจ แนวคิดทางธุรกิจที่ดีหรือผลิตภัณฑ์ล้ำๆ จะไม่มีค่าอะไรหากคุณไม่สามารถสื่อสารให้โลกได้รับรู้ได้ โดยเฉพาะด้วยวิธีที่กลุ่มเป้าหมายจะสนใจ
วิธีที่ลูกค้า คู่แข่ง และตลาดมองภาพลักษณ์แบรนด์ขึ้นอยู่กับการวางตำแหน่งแบรนด์และการเลือกสไตล์ แต่อัตลักษณ์ของแบรนด์มีมากกว่าแค่โลโก้ เพราะมันรวมทุกอย่างตั้งแต่ตัวตนของแบรนด์ พันธกิจที่มุ่งมั่น ไปจนถึงชุดสีที่คุณใช้ในช่องทางต่างๆ อย่างสอดคล้องกัน
ในคู่มือนี้ คุณจะได้เรียนรู้วิธีสร้างแบรนด์ตั้งแต่ก้าวแรก พร้อมวิธีสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ที่น่าสนใจและน่าจดจำจนมัดใจกลุ่มเป้าหมายได้อยู่หมัด นอกจากนี้ คุณจะได้ไปสำรวจปัจจัยในการสร้างโลโก้และสโลแกนติดหู พร้อมเรียนรู้เคสตัวอย่างจากแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ และเคล็ดลับการออกแบบแบรนด์จากผู้เชี่ยวชาญ
สารบัญลัด
แบรนด์คืออะไร?
แบรนด์คือสิ่งที่กำหนดทิศทางของธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ บริการ บุคคล หรือแนวคิดในตลาด แบรด์คือสิ่งที่ช่วยแยกธุรกิจของคุณออกจากเจ้าอื่นๆ ในวงการเดียวกัน และมีกฎ (ที่เรียกว่าแนวทางของแบรนด์) ที่กำหนดว่าธุรกิจนั้นจะทำการตลาดและนำเสนอตัวเองอย่างไร การสร้างแบรนด์คือกระบวนการในการก่อร่างแบรนด์ ว่าแบรนด์จะหน้าตาเป็นอย่างไร มีน้ำเสียงแบบไหน และตั้งใจจะจับกลุ่มเป้าหมายใด
องค์ประกอบของแบรนด์มีอะไรบ้าง?
ก่อนจะไปรู้จักกับวิธีสร้างแบรนด์ เรามาดูกันว่าแบรนด์ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เพราะแบรนด์เป็นมากกว่าแค่โลโก้ สโลแกน หรือชุดสี ในการสร้างแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ คุณต้องทำการบ้านอย่างหนักก่อนที่จะเริ่มออกแบบเว็บไซต์หรือสร้างสื่อการตลาด
ด้านล่างนี้คือองค์ประกอบพื้นฐานที่คุณสามารถนำไปต่อยอดลงในเอกสารแนวทางสำหรับแบรนด์
กลุ่มเป้าหมาย
การกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการสร้างแบรนด์จากศูนย์ ทุกอย่างเริ่มต้นจากจุดนี้ การกำหนดกลุ่มเป้าหมายอย่างละเอียดจะช่วยให้คุณสร้างแบรนด์ได้ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย คุณจะได้เรียนรู้กลยุทธ์ในการทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายในบทความนี้
อัตลักษณ์ของแบรนด์
อัตลักษณ์ของแบรนด์ประกอบด้วยชื่อธุรกิจและองค์ประกอบภายนอกที่นิยามตัวตนให้กับแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นโลโก้ สีสัน ไปจนถึงสไตล์ของภาพถ่าย และบัญชีโซเชียลมีเดีย อัตลักษณ์ของแบรนด์ยังรวมไปถึงเรื่องราวของแบรนด์ และข้อได้เปรียบที่แบรนด์มีเหนือแบรนด์อื่นๆ ด้วย
น้ำเสียงของแบรนด์
น้ำเสียงของแบรนด์คือวิธีที่แบรนด์ของคุณสื่อสาร การกำหนดน้ำเสียงจะช่วยให้การมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้ามีความสอดคล้องสม่ำเสมอ ถ้าลูกค้าคาดหวังน้ำเสียงที่สนุกสนานและตรงไปตรงมาจากคุณในโซเชียลมีเดีย ก็ให้คุณรักษาน้ำเสียงแบบนั้นไว้ข้อความบนเว็บไซต์และช่องทางการสื่อสารอื่นๆ ด้วย
พันธกิจและค่านิยม
พันธกิจของแบรนด์คือดาวเหนือที่จะนำทางธุรกิจ สิ่งนี้จะกำหนดว่าเป้าหมายของบริษัทคืออะไร และบริษัทสัญญาไว้กับลูกค้าว่าอย่างไร ค่านิยมคือคุณค่าที่แบรนด์ของคุณยึดมั่น ทั้งสองสิ่งนี้ล้วนสำคัญเมื่อคุณสร้างแบรนด์ เพราะมันช่วยให้การตัดสินใจอยู่ในกรอบ สิ่งที่คุณทำในฐานะแบรนด์จะต้องสอดคล้องกับพันธกิจและค่านิยมเสมอ
คู่มือสไตล์ของแบรนด์
คู่มือสไตล์ประจำแบรนด์ คือหนึ่งในองค์ประกอบของแนวทางสำหรับแบรนด์ คู่มือนี้จะบอกว่าแบรนด์คุณควรมีภาพลักษณ์อย่างไรในทุกแพลตฟอร์มหรือช่องทาง โดยมีข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการใช้โลโก้ ฟอนต์ น้ำเสียงของแบรนด์ และสุนทรียภาพโดยรวมของแบรนด์ นับเป็นคู่มือที่มีประโยชน์มากๆ เมื่อคุณขยายธุรกิจ จ้างงาน และว่าจ้างให้เอเจนซีสร้างผลงานแทนคุณ
กลยุทธ์การสร้างแบรนด์ “การกำหนดแนวทาง”
แนวทางของแบรนด์คือคัมภีร์สำหรับแบรนด์เอกสารหรือชุดเอกสารนี้จะระบุข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ในทุกด้าน รวมถึงหน้าตาของแบรนด์เมื่อไปปรากฏอยู่ตามที่ต่างๆ ทุกการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในกระบวนการสร้างแบรนด์จะถูกบันทึกไว้ที่นี่
แนวทางสำหรับแบรนด์ที่ผ่านการคิดมาเป็นอย่างดีจะมีประโยชน์ดังนี้
- ทำให้พนักงาน ฟรีแลนซ์ พาร์ทเนอร์ค้าปลีก และเอเจนซีต่างๆ มีความเข้าใจตรงกัน
- มีส่วนช่วยในการจ้างงานและการฝึกอบรมพนักงาน (คุณสมบัติของพนักงานที่แบรนด์มองหาคืออะไร?)
- ทำให้การสร้างแบรนด์สอดคล้องกันในทุกๆ ปฏิสัมพันธ์
- เป็นแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการสื่อสารในช่วงวิกฤต
- เป็นเอกสารที่ยืดหยุ่นได้ และจะพัฒนาไปพร้อมกับแบรนด์
วิธีสร้างแบรนด์ใน 7 ขั้นตอน
- วิจัยตลาดเป้าหมาย
- กำหนดน้ำเสียงและบุคลิกแบรนด์
- ตั้งชื่อให้ธุรกิจ
- สร้างสตอรี่ให้แบรนด์
- จัดทำคู่มือสไตล์ประจำแบรนด์
- ออกแบบโลโก้และกราฟิกอื่นๆ แบรนด์
- นำแบรนด์ไปใช้ในธุรกิจ
ในฐานะเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก การใช้เวลาค่อยๆ สร้างภาพลักษณ์เป็นกลยุทธ์การสร้างแบรนด์เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณกำลังเข้าสู่ตลาดที่มีการแข่งขันสูง และการสร้างพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับอัตลักษณ์แบรนด์สามารถช่วยให้คุณสร้างการรับรู้ของแบรนด์ได้ในระยะยาว
แม้ว่าคุณอาจจะต้องกลับไปทบทวนบางขั้นตอนเมื่อคุณปรับเปลี่ยนหรือสร้างแบรนด์ แต่สิ่งสำคัญคือคุณต้องคิดทุกด้านให้รอบคอบเมื่อก่อร่างอัตลักษณ์ให้กับแบรนด์ อย่าลืมบันทึกบทความนี้ไว้ เพื่อใช้เป็นคู่มือในขณะที่คุณกำลังสร้างแบรนด์
1. วิจัยตลาดเป้าหมาย
ขั้นตอนแรกในการสร้างแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ คือการทำความเข้าใจสภาวะปัจจุบันของตลาด กล่าวคือ ผู้ที่น่าจะเป็นลูกค้าและคู่แข่งของคุณคือใคร? ทุกๆ กลยุทธ์และแผนธุรกิจที่แบรนด์ใช้และวางมาเป็นอย่างดีจะต้องขึ้นอยู่กับคำถามนี้
คุณไม่สามารถสร้างโลโก้แบรนด์ได้ถ้าคุณไม่รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณชอบอะไร และการพัฒนาตัวตนแบรนด์ให้ไม่เหมือนใครจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณรู้ว่าการแข่งขันในวงการนั้นเป็นอย่างไร
ก่อนเริ่มกระบวนการสร้างแบรนด์ คุณสามารถวิจัยตลาดได้หลายวิธี ดังนี้
- ค้นหาประเภทผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณใน Google และวิเคราะห์คู่แข่งโดยตรงและโดยอ้อมที่ปรากฏในผลการค้นหา
- พูดคุยกับคนที่เป็นกลุ่มตลาดเป้าหมายของคุณ และถามพวกเขาว่าพวกเขาซื้อจากแบรนด์ไหนในอุตสาหกรรมเดียวกับคุณ
- ดูว่าบัญชีหรือเพจไหนในโซเชียลมีเดียที่กลุ่มเป้าหมายของคุณติดตาม
- ช้อปปิ้งออนไลน์หรือในร้านค้า เพื่อให้เห็นภาพว่าลูกค้าของคุณจะค้นหาและซื้อสินค้าอย่างไร
- ศึกษาเทรนด์ในอุตสาหกรรมของคุณ โดยการอ่านหนังสือ โซเชียลมีเดีย และใช้ Google Trends
ในระหว่างที่คุณกำลังวิจัยนี้ ให้จดไว้ว่าแบรนด์ไหนใหญที่สุดในตลาด มีอะไรที่พวกเขาทำได้เข้าท่า มีอะไรที่คุณมี แต่พวกเขาไม่มี นี่เรียกว่าจุดขาย
คุณควรสนใจพฤติกรรมโดยทั่วไปของกลุ่มเป้าหมายด้วยเช่น แพลตฟอร์มที่พวกเขาใช้มากที่สุด ภาษาและสแลงที่พวกเขาใช้ และวิธีที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์อื่นๆ ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้จะบอกคุณว่าคุณควรจะเขาหาพวกเขาที่ไหนและอย่างไร
แบรนด์ชุดชั้นใน Lemonade นำเสนอสินค้าที่มีครบทุกไซส์ ทุกรูปร่าง และเหมาะสำหรับ “ทุกคน” แม้จะฟังดูเป็นกลุ่มเป้าหมายที่กว้าง แต่ Lemonade เข้าใจว่าลูกค้าเป้าหมายของพวกเขาคือคนที่รู้สึกว่าแบรนด์ชุดชั้นในทั่วๆ ไปไม่สามารถตอบโจทย์พวกเขาได้
นอกเหนือจากตัวอักษรแล้ว Lemonade ยังแสดงให้เห็นว่า Lemonade เป็นแบรนด์ที่ทำมาเพื่อทุกรูปร่างจริงๆ โดยใช้ภาพของคนหลายๆ แบบ รวมทั้งใช้นางแบบพลัสไซส์ และมีไลน์สินค้าที่ช่วยยืนยันเพศสภาพอีกด้วย
2. กำหนดโทนและบุคลิกของแบรนด์
อีกหนึ่งกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ เพราะการสร้างแบรนด์ไม่ใช่เรื่องของการพยายามเป็นทุกอย่างให้กับทุกคน การมีมุมมองที่ชัดเจนจะสื่อสารไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่คุณให้ความสำคัญมากที่สุดได้ ซึ่งจะบอกว่าแบรนด์ของคุณทำมาเพื่อพวกเขา ในการที่จะสร้างมุมมองและน้ำเสียงที่ให้ไม่เหมือนใครให้กับแบรนด์ คุณสามารถฝึกฝนได้หลายทางเลย
วางตำแหน่งของแบรนด์
การวางตำแหน่งของแบรนด์ คือการระบุข้อความ 1-2 บรรทัด ที่บอกว่าแบรนด์ของคุณตั้งเป้าไว้อย่างไรในตลาด อาจไม่จำเป็นต้องเป็นข้อความที่เผยแพร่ไปสู่สาธารณะ แต่จะต้องช่วยชี้นำทิศทางให้กับเรื่องราวของแบรนด์และองค์ประกอบอื่นๆ ในแนวทางสำหรับแบรนด์ของคุณได้
การวางตำแหน่งของแบรนด์ควรวางกรอบให้กับสิ่งที่คุณขาย ใครคือกลุ่มเป้าหมาย และอะไรทำให้คุณโดดเด่น คุณค่าที่คุณจะส่งมอบให้ลูกค้าคือสิ่งที่จะทำให้คุณได้เปรียบ แม้ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง
ลองสร้างและวางตำแหน่งของแบรนด์ด้วยเทมเพลตนี้ดู
“เรานำเสนอ [ผลิตภัณฑ์/บริการ] สำหรับ [ตลาดเป้าหมาย] เพื่อ [ข้อเสนอที่มีมูลค่า] เรานั้นแตกต่างจาก [คู่แข่ง] ตรงที่เรา [ความแตกต่างหลัก]”
ถ้อยแถลงการวางตำแหน่งของแบรนด์อาจมีหน้าตาเป็นแบบนี้
“เรานำเสนอเป้สะพายหลังสำหรับนักเดินทาง ที่ทั้งเบา กันน้ำ และพับให้เล็กเท่ากระเป๋าสตางค์ได้เมื่อไม่ใช้งาน เราแตกต่างจากแบรนด์อุปกรณ์เสริมอื่นๆ ตรงที่เรารับประกันเป้ตลอดอายุการใช้งานอย่างไม่มีข้อแม้”
💡 เคล็ดลับ: คุณสามารถใช้แบบฝึกหัดนี้เป็นพื้นฐานสำหรับคำประกาศพันธกิจของคุณได้ โดยนำถ้อยแถลงการวางตำแหน่งของแบรนด์มาขยายเพื่อใส่ไว้ในคำสัญญาของแบรนด์ และคุณค่าที่คุณยึดมั่น
ระดมความคิดโดยใช้การเชื่อมโยงคำ
สมมติว่าแบรนด์ของคุณเป็นคน เขาจะมีบุคลิกอย่างไร บุคลิกเขาจะดึงดูดลูกค้าของคุณได้หรือไม่ อธิบายลักษณะบุคคลนี้ให้ชัดเจน คุณจะสามารถแปลงคำอธิบายเกี่ยวกับคนผู้นี้ให้กลายเป็นแบรนด์ได้อย่างไร
Joey Ng ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์แฟชั่น แนะนำให้ตีกรอบคำคุณศัพท์ของคุณให้เหลือเพียง 3 คำที่ดีที่สุด “ค้นหาความเฉพาะทางของคุณ และนิยามด้วยคำจำนวนน้อยๆ ที่ทำให้แบรนด์ของคุณโดดเด่น” เธอกล่าว “ถ้ามีอะไรที่ไม่เข้ากับสามคำนั้น ต่อให้คุณชอบ ก็ขอให้จงทิ้งไป คุณต้องวางข้อความหลักให้ชัดเจน สื่อสารให้ตรงจุด และค่อยต่อยอดออกไป”
ปรับแต่งโทนของแบรนด์
น้ำเสียงของแบรนด์จะช่วยให้คุณปรับน้ำเสียงที่คุณอยากให้ลูกค้าได้ยิน และสิ่งที่คุณต้องการให้ลูกค้ารู้สึกเมื่อพวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับคุณ น้ำเสียงของคุณสนุกสนานหรือจริงจัง ตั้งใจให้เป็นเพื่อนที่พึ่งได้ หรือเป็นมิวส์ หรือผู้เชี่ยวชาญที่เชื่อถือได้ล่ะ
ให้คุณกำหนดว่าภาษาแบบไหนที่ใช้ได้หรือไม่ได้ในการสื่อสารของคุณ และอาจเจาะจงไปถึงช่องทางการสื่อสารอย่างโซเชียลมีเดียหรืองานบริการลูกค้า ว่าน้ำเสียงของคุณจะเปลี่ยนไปอย่างไรตามสถานการณ์
3. ตั้งชื่ออย่างมีกลยุทธ์
ชื่อของบริษัทอาจเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบแรกๆ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคุณในฐานะเจ้าของธุรกิจ โดยทั่วไปแล้ว คุณจะต้องการชื่อแบรนด์ที่ไม่มีบริษัทไหนใช้ (โดยเฉพาะในวงการเดียวกับคุณ) สามารถนำไปใช้เป็นชื่อบัญชีโซเชียลมีเดียที่ยังไม่มีใครใช้ และเหมาะสมกับแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ของคุณ ที่สำคัญ ควรจจะจำง่ายและเลียนแบบได้ยาก
ตัวอย่าง กลยุทธ์การสร้างแบรนด์จากการตั้งชื่อ
- สร้างคำใหม่ขึ้นมา (เช่น Pepsi)
- ปรับคำที่ไม่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหรือผลิตภัณฑ์ของคุณ (เช่น Apple สำหรับคอมพิวเตอร์หรือ Maple สำหรับบริการดูแลสุขภาพ)
- ใช้คำหรืออุปมาอุปไมยที่ตีความได้ (เช่น Buffer)
- ใช้ข้อความตรงไปตรงมา (เช่น The Shoe Company หรือ Home Depot)
- เล่นคำโดยการเปลี่ยนการสะกด ลบตัวอักษร เพิ่มตัวอักษร หรือใช้คำลงท้ายแบบภาษาละติน (เช่น Tumblr หรือ Activia)
- สร้างตัวย่อจากชื่อยาวๆ (เช่น HBO สำหรับ Home Box Office)
- ผสมคำ เช่น Pinterest (pin + interest) หรือ Snapple (snappy + apple)
- ใช้ชื่อของคุณเอง (เช่น Donna Karan หรือ DKNY)
ถ้าชื่อโดเมนที่เป็นตัวเลือกแรกของแบรนด์คุณมีคนใช้ไปแล้ว (เช่น yourbrandname.com) ให้คิดหาชื่อโดเมนอื่นที่ใช้ในทำนองเดียวกันได้ เช่น ชื่อโดเมนของบริษัทชุดชั้นใน Pepper คือ wearpepper.com นอกจากนี้ คุณยังสามารถเล่นกับชื่อโดเมนระดับบนสุด เช่น ลองใช้โดเมนระดับบนสุดที่เป็นของประเทศคุณ อาทิ .co.th
⚒️ โปรแกรมฟรี: ลองใช้โปรแกรมตั้งชื่อธุรกิจและโปรแกรมตั้งชื่อโดเมนของ Shopify ได้ฟรี เพื่อช่วยให้คุณได้ชื่อที่เหมาะสุดๆ สำหรับแบรนด์ของคุณ
4. เขียนเรื่องราวของแบรนด์
เรื่องราวของแบรนด์คืออัตชีวประวัติของธุรกิจของคุณ และบางครั้งก็เป็นเรื่องราวของคุณในฐานะผู้ก่อตั้ง เรื่องราวของแบรนด์เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการสร้างแบรนด์ เพราะเรื่องราวนั้นเพิ่มความเป็นมนุษย์ให้กับธุรกิจของคุณ ทำให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายกับลูกค้า เทรนด์ของผู้ซื้อแสดงให้เราเห็นว่าลูกค้าต้องการที่จะมีความสัมพันธ์อันดีกับแบรนด์ และวิธีที่ดีที่สุดในการทำเช่นนี้คือการมีเรื่องราวที่น่าสนใจ โปร่งใส และเป็นความจริง
องค์ประกอบใดในเรื่องราวของคุณที่จะมัดใจกลุ่มเป้าหมายของคุณ? พวกเขาต้องรู้เรื่องอะไรบ้างเพื่อให้รู้สึกผูกพันกับคุณ? คุณจะใส่ค่านิยมและพันธกิจของแบรนด์ลงไปในเรื่องราวได้อย่างไร เพื่อให้ลูกค้ารู้ว่า “นี่คือแบรนด์สำหรับพวกเขา”
กลยุทธ์การสร้างแบรนด์ด้วยสโลแกนที่ดึงดูดใจ
เมื่อคุณได้วางตำแหน่งให้กับแบรนด์และมีเรื่องราวของแบรนด์แล้ว คุณสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปต่อยอดเป็นสโลแกนเฉียบๆ ให้กับธุรกิจของคุณได้ สโลแกนที่ดีควรสั้น ติดหู และสร้างความประทับใจที่ตราตรึงได้
สโลแกนที่คิดมาดีแล้วสามารถเพิ่มการรับรู้แบรนด์เมื่อลูกค้าเริ่มจำสโลแกนได้ แม้แบรนด์คุณจะเลิกใช้สโลแกนนั้นไปแล้วก็ตาม
ตัวอย่างวิธีการเขียนสโลแกน
- อวดสรรพคุณของคุณ เช่น ตัวอย่างจาก Death Wish Coffee: “The World’s Strongest Coffee.”
- ใช้อุปมาอุปไมย แบบที่ Red Bull ทำ: “Red Bull gives you wings”
- นำทัศนคติของลูกค้ามาใช้ เช่น สโลแกนที่จำได้ไม่ลืมของ Nike: “Just do it.”
- สื่อสารไปถึงกลุ่มเป้าหมายของคุณโดยตรง เช่น ตัวอย่างนี้จาก Cards Against Humanity: “A party game for horrible people.”
- เล่นคำคล้องจองให้ติดหู เช่น สโลแกนกาแฟ Folgers: “The best part of waking up is Folgers in your cup.”
- กำหนดรสนิยมหรือระดับของสุนทรียภาพ ดังตัวอย่างนี้จาก Aritzia: “Everyday luxury to elevate your world.”
⚒️ เครื่องมือฟรี ลองใช้โปรแกรมตั้งสโลแกนของ Shopify เพื่อสร้างประโยคสั้นๆ ที่จะอธิบายธุรกิจของคุณ
5. สร้างคู่มือสไตล์ประจำแบรนด์
มาถึงส่วนที่สนุกกันแล้ว คู่มือสไตล์ของคุณจะรวบรวมสิ่งที่คุณตัดสินใจเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ในแบบที่ตาเห็น คู่มือนี้จะมีประโยชน์เมื่อคุณสร้างเว็บไซต์ ออกแบบหน้าโปรไฟล์โซเชียลมีเดีย และสร้างบรรจุภัณฑ์
การเลือกสี
สีมีความสำคัญ เมื่อใช้ควบคู่กับข้อความโฆษณา สีจะเป็นสิ่งที่บอกลูกค้าว่าพวกเขาควรรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับแบรนด์ของคุณ แม้ว่าจิตวิทยาเกี่ยวกับสีจะเป็นศาสตร์ที่คนโต้ว่าไม่มีอยู่จริงบ้าง แต่ความเชื่อมโยงระหว่างสีและอารมณ์โดยทั่วไปแล้วก็ยังมีอยู่ สีมืดๆ ในโทนเย็นอาจเหมาะกับแบรนด์ที่มีความแปลกใหม่หรือแบรนด์ที่เกี่ยวกับการนอนหลับ ส่วนสีพาสเทลโทนอุ่นก็จะชวนให้นึกถึงเรื่องราวสบายๆ สำหรับแบรนด์เกี่ยวกับเด็กหรือสุขภาพ
เคล็ดลับในการเลือกสีสำหรับอัตลักษณ์ในเชิงภาพของคุณ
- คำนึงว่าข้อความสีขาวหรือสีดำจะอ่านง่ายไหม เมื่อนำไปประกอบกับชุดสีของคุณ
- อย่าให้มีสีเยอะเกินไปในโลโก้ โลโก้ยังควรต้องดูออกเมื่อเป็นสีเดียวหรือสีขาวดำ
- วิจัยตลาดเป้าหมายของคุณ ใช้โฟกัสกรุ๊ป และทำความเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมหรือประชากรศาสตร์ที่อาจส่งผลต่อการรับรู้สีของผู้ใช้
- จำกัดชุดสีของคุณให้มีแค่ 1-2 สีหลักๆ โดยมีชุดสีรองสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป แล้วแต่การใช้งาน
💡 เรียนรู้เพิ่มเติม: การออกแบบทางจิตวิทยา: 8 กลยุทธ์ในการเปลี่ยนผู้มีโอกาสเป็นลูกค้าให้กลายเป็นลูกค้า
การเลือกชุดฟอนต์
ฟอนต์ทำงานร่วมกับสีเพื่อสร้างรูปลักษณ์ที่สามารถจดจำได้ง่ายสำหรับแบรนด์ของคุณในโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ บรรจุภัณฑ์ และสื่อการตลาดอื่นๆ
โดยทั่วไปแล้ว ให้เลือกฟอนต์ 2 ฟอนต์ ฟอนต์หนึ่งสำหรับหัวข้อ อีกฟอนต์สำหรับตัวเนื้อหา (อาจไม่รวมฟอนต์ที่คุณใช้ในชื่อแบรนด์) แบรนด์ของแต่งบ้านอย่าง Floof ใช้ฟอนต์ไม่มีเชิง (Sans serif) สำหรับข้อความนำทางและหัวข้อในเว็บไซต์ และฟอนต์มีเชิง (Serif) อีกตัวสำหรับข้อความที่เหลือ ทั้งนี้ โปรดสังเกตว่าโลโก้ ซึ่งเขียนเป็นชื่อแบรนด์แบบเรียบๆ เป็นฟอนต์ที่ไม่ได้ปรากฏที่ไหนในเว็บไซต์เลย
คุณควรเก็บฟอนต์เก๋ๆ เอาไว้ใช้กับโลโก้ หรือในจุดที่จะมีการใช้งานอย่างจำกัด และใช้ฟอนต์เรียบๆ ที่อ่านง่ายกับเว็บไซต์และข้อมูลผลิตภัณฑ์บนบรรจุภัณฑ์ ฟอนต์ของ Forét นั้นเรียบง่ายและชัดเจน ทำให้สามารถอ่านได้ในทุกขนาด
การกำหนดองค์ประกอบและเอฟเฟกต์ทางสุนทรียศาสตร์
ถ้าแบรนด์ของคุณใช้ภาพถ่ายแนวไลฟ์สไตล์เยอะ คุณอาจต้องตั้งกฎขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อกำหนดทิศทาง ไม่ว่าใครจะเป็นคนถ่ายภาพนั้น โดยกฎนั้นอาจกำหนดแนวทางสำหรับอารมณ์ของรูป ฟิลเตอร์ที่ใช้ สีสัน และเอฟเฟกต์อื่นๆ
นอกจากนี้ คุณยังสามารถออกแบบองค์ประกอบกราฟิกขึ้นมาชุดหนึ่ง เอาไว้ใช้ในกับกราฟิกเกี่ยวข้องกับแบรนด์ของคุณ อาจเป็นตัวละคร เส้นโค้ง หรือเอฟเฟกต์พื้นผิว แบรนด์ขนม Rotten ใช้องค์ประกอบกราฟิกที่สอดคล้องกันทั้งหมด เช่น เส้นสายฟ้าและพื้นผิวแบบมีเกรน
ในขณะที่ OffLimits แบรนด์ซีเรียลธัญพืช ใช้โลโก้ที่เป็นชื่อแบรนด์ แต่มีองค์ประกอบกราฟิกที่สอดคล้องกันวางอยู่ทั่ว เช่น ครอบครัวของมาสคอตแบรนด์
6. ออกแบบโลโก้และกราฟิกอื่นๆ
แม้การออกแบบโลโก้เป็นหนึ่งในสิ่งแรกๆ ที่คุณอาจคิดถึงเมื่อสร้างแบรนด์ แต่ควรเกิดขึ้นตอนท้ายๆ กระบวนการ เพราะโลโก้จะเป็นสิ่งที่ใช้แยกแยะแบรนด์ของคุณออกจากบรรดาแบรนด์ทั้งหลาย และเป็นอะไรที่เปลี่ยนยากมากๆ เมื่อตัดสินใจใช้ไปแล้ว
โลโก้ของคุณควรมีเอกลักษณ์ เห็นปุ๊บรู้ปั๊บ และย่อขยายได้เพื่อให้สามารถใช้งานได้ทุกไซส์ โลโก้ควรสะท้อนถึงสิ่งที่คุณได้ทำลงไปทั้งหมดเพื่อสร้างแบรนด์ของคุณจนถึงตอนนี้ โลโก้ทำให้ลูกค้านึกถึงสิ่งที่คุณอยากให้ลูกค้านึกถึงได้หรือเปล่า? โลโก้บอกเล่าเรื่องราวที่สอดคล้องกับค่านิยมของแบรนด์คุณหรือไม่? โลโก้เข้ากับสีของแบรนด์คุณไหม?
คุณควรคำนึงถึงทุกๆ ที่ที่โลโก้ของคุณจะไปปรากฏ
- เว็บไซต์
- รูปโปรไฟล์ในโซเชียลมีเดีย
- บรรจุภัณฑ์
- คลิปโฆษณา
- แบนเนอร์ช่อง YouTube
- Favicon (ไอคอนเล็กๆ ที่แสดงบนแท็บเบราว์เซอร์)
- อีเมลการตลาด
- การถูกกล่าวถึงในสื่อและความร่วมมือต่างๆ
คุณอาจต้องสร้างเวอร์ชันโลโก้ออกมาหลายๆ เวอร์ชัน เพื่อให้ใช้งานได้หลากหลาย เช่น ถ้าคุณมีโลโก้ที่เป็นข้อความ มันก็อาจจะแทบอ่านไม่รู้เรื่องเมื่ออยู่ในรูปแบบ Favicon หรือรูปโปรไฟล์โซเชียลมีเดีย คุณควรสร้างโลโก้เวอร์ชั่นเรียบๆ ที่ดูรู้เรื่องในวงกลมหรือสี่เหลี่ยมจัตุรัสเอาไว้ด้วย
ประเภทของโลโก้
โลโก้แบบทั้งคำ โลโก้แบบตัวอักษร และโลโก้ประเภทอื่นๆ ที่เป็นตัวหนังสือ เป็นประเภทโลโก้ที่พบมากที่สุดในหมู่แบรนด์สมัยใหม่ แต่สไตล์อื่นๆ ก็อาจเหมาะกับคุณมากกว่า ขึ้นอยู่กับเป้าหมายและสุนทรียศาสตร์ของคุณ ตัวอย่างโลโก้ประเภทต่างๆ มีดังนี้
- โลโก้แบบนามธรรม เป็นการนำรูปทรงและสีที่ไม่สามารถเชื่อมโยงกลับไปยังสิ่งใดในโลกจริงได้ง่ายๆ มารวมกัน โลโก้เหล่านี้เหมาะสำหรับใช้เป็นโลโก้รอง ควบคู่ไปกับโลโก้แบบคำ เพื่อสร้างการรับรู้ของแบรนด์
- โลโก้แบบมาสคอต เป็นรูปใบหน้าของตัวละครหรือบุคคลจริงที่คุณใช้เป็นตัวแทนของแบรนด์คุณ โลโก้นี้สามารถทำให้ธุรกิจของคุณดูคล้ายเป็นคนเพราะมีการสร้างตัวตนที่เชื่อมโยงได้ โลโก้ประเภทนี้เหมาะที่สุดสำหรับแบรนด์เกี่ยวกับเด็กหรือแบรนด์ที่ต้องการความรู้สึกย้อนยุค (เช่น Wendy’s และผู้พันแซนเดอร์สของ KFC)
- โลโก้แบบตราสัญลักษณ์ มักจะเป็นวงกลมและนำข้อความไปรวมกับสัญลักษณ์ เพื่อสร้างดีไซน์ที่ดูหรูหรา คุณควรเลี่ยงไม่ให้มันดูรุงรังเกินไป มิฉะนั้นมันจะไม่สามารถปรับขนาดได้ (เช่น Polo Ralph Lauren)
- โลโก้แบบไอคอน เป็นการแสดงแบรนด์ของคุณในรูปแบบอุปมาอุปไมย ซึ่งจะแตกต่างจากโลโก้แบบนามธรรม โลโก้แบบไอคอนบ่งบอกถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ (เช่น โลโก้ปุ่มเล่นของ YouTube)
- โลโก้แบบคำหรือตัวอักษร เป็นโลโก้ที่ใช้ตัวอักษรซึ่งอาจเป็นชื่อเต็มๆ ของธุรกิจ หรือเป็นการนำตัวอักษรมารวมกัน หรือเป็นตัวย่อก็ได้
ตัวอย่างโลโก้ที่บ่งบอกอัตลักษณ์แบรนด์
เนื่องจากข้อจำกัดสำหรับแต่ละประเภทโลโก้ คุณสามารถเล่นกับการนำสไตล์ต่างๆ มารวมกัน หรือมีโลโก้อันดับ 2 และโลโก้อันดับ 3 ได้ Glossier แบรนด์เครื่องสำอาง ใช้โลโก้แบบคำที่เรียบง่ายทั่วทั้งเว็บไซต์และบรรจุภัณฑ์
สำหรับการใช้งานที่มีพื้นที่น้อย โลโก้รองของ Glossier ซึ่งตัวอักษร “G” เก๋ๆ ถูกนำมาใช้เพื่อให้อ่านได้ เหมือนในตัวอย่างนี้ที่นำมาจากช่อง YouTube ของแบรนด์
แบรนด์อาหารเสริมจากเห็ด Eons นำโลโก้แบบไอคอนและแบบคำมารวมกัน (เป็นรูปเห็ดสไตล์ลดทอนเรียบๆ) โลโก้เหล่านี้สามารถนำมาใช้ร่วมกัน หรือใช้แยกกันก็ได้ ดังในภาพตัวอย่างการใช้งานด้านล่างนี้
Lazypants เองก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน โดยนำโลโก้แบบคำและแบบไอคอนมารวมกัน และสามารถใช้แยกกันได้ เช่นในตัวอย่างนี้ที่มีการปักเฉพาะโลโก้แบบไอคอนลงไปเท่านั้น
วิธีสร้างแบรนด์ด้วยการออกแบบโลโก้
แบรนด์ใหม่ๆ มักมีงบประมาณที่จำกัด ถ้าคุณเองก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน ก็ให้คุณลองออกแบบโลโก้ด้วยตัวเอง ใช้เครื่องมือฟรี อย่าง Canva หรือใช้เครื่องมือสร้างโลโก้ได้เลย เครื่องมือเหล่านี้จะสร้างโลโก้ตัวอย่างขึ้นมาจากข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับธุรกิจของคุณ
ถ้าคุณออกแบบไม่เก่ง หรือไม่ค่อยมั่นใจที่จะจัดการงานชิ้นสำคัญนี้ด้วยตนเอง ให้พิจารณาจ้างมืออาชีพแทน คุณสามารถจ้างคนมาทำงานออกแบบผ่านเว็บไซต์หางานฟรีแลนซ์ เช่น Fiverr หรือ Upwork หรือจัดประกวดโลโก้ใน 99Designs และถ้าคุณทำธุรกิจบน Shopify ก็มี Shopify Expert จำนวนมากที่คุณสามารถจ้างมาออกแบบอัตลักษณ์แบรนด์ให้คุณได้ (หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์ด้วยก็ได้)
7. เชื่อมต่อแบรนด์กับธุรกิจ
การนำแบรนด์ของคุณไปใช้ในธุรกิจของคุณจะเป็นการสร้างเรื่องราวของแบรนด์ที่มีความสอดคล้องกัน ไม่ว่าลูกค้าจะไปเจอแบรนด์ของคุณที่ไหน เช่น ผ่านโฆษณา TikTok ในร้านค้า หรือในอีเมลของพวกเขา ทุกที่ที่พวกเขาเจอควรให้ความรู้สึกคุ้นเคยและจำได้
ตอนที่คุณสร้างเว็บไซต์ สร้างบัญชีโซเชียลมีเดีย และสร้างแผนการตลาดของคุณ ให้คุณย้อนไปดูแนวทางของแบรนด์ คำประกาศพันธกิจ และค่านิยมของคุณ เพื่อให้แน่ใจว่าการตัดสินใจแต่ละครั้งยังคงมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นหัวใจหลัก
เว็บไซต์ของคุณ คือที่ที่คุณจะควบคุมอัตลักษณ์ของแบรนด์ได้มากที่สุด คุณควรใช้พื้นที่นี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เทมเพลตสำหรับเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเทมเพลตเหล่านี้โดยมากแล้วจะสามารถปรับแต่งได้เต็มที่ เหมือนกับธีมใน Shopify Themes Store ซึ่งหมายความว่าคุณสามารถนำสี ฟอนต์ และองค์ประกอบกราฟิกของคุณ ไปใช้ในเลย์เอาต์ที่ยืดหยุ่นนี้ได้เลย
สร้างและพัฒนาแบรนด์อย่างต่อเนื่อง
การสร้างแบรนด์ไม่ได้หยุดหลังจากที่คุณออกแบบโลโก้เสร็จแรียบร้อย แต่มันเป็นกระบวนการต่อเนื่อง ที่จะต้องประทับอัตลักษณ์แบรนด์ไว้ในใจลูกค้าให้ได้ การสร้างแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จเกี่ยวข้องกับการสื่อสารที่สม่ำเสมอ และทำการตลาดให้แบรนด์ของคุณอย่างละเอียดรอบคอบ
เมื่อคุณเข้าใจวิธีการสร้างแบรนด์ตั้งแต่ก้าวแรกแล้ว คุณก็ยังคงจะต้องสร้างแบรนด์ต่อไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่ธุรกิจของคุณยังดำเนินอยู่ คุณอาจต้องพัฒนาแบรนด์ของคุณตามค่านิยมของคุณหรือเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แต่จำไว้ว่าหากคุณรีแบรนด์ ลูกค้าประจำจะยังคงต้องจำแบรนด์ของคุณได้และได้รับประสบการณ์เดียวกัน การรับฟังความคิดเห็นของลูกค้าจะช่วยคุณพาแบรนด์ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กับผู้คนที่สำคัญกับแบรนด์ของคุณที่สุด
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับวิธีสร้างแบรนด์
วิธีสร้างแบรนด์ต้องทำอย่างไร?
ในการสร้างแบรนด์ คุณจะต้องรู้จักประเภทของธุรกิจสินค้า รู้จักกลุ่มเป้าหมายและความต้องการของพวกเขา ทำการวิจัยคู่แข่ง รวมทั้งกำหนดตำแหน่งและอัตลักษณ์ของแบรนด์ หลังจากที่คุณวางรากฐานนี้ได้แล้ว คุณก็สามารถสร้างอัตลักษณ์แบรนด์ ที่ประกอบด้วยโลโก้ สโลแกน เรื่องราวของแบรนด์ และองค์ประกอบอื่นๆ ได้
อัตลักษณ์แบรนด์กำหนดอย่างไร?
อัตลักษณ์แบรนด์แสดงถึงวิธีที่ลูกค้า คู่แข่ง และสาธารณชนทั่วไปมองแบรนด์ของคุณ อัตลักษณ์แบรนด์ประกอบด้วยค่านิยม บุคลิกของแบรนด์ (รวมถึงนำ้เสียงแบรนด์) และความสวยงามในเชิงรูปภาพ อัตลักษณ์แบรนด์ของคุณจะถูกสื่อสารผ่านทุกส่วนของบริษัท ตั้งแต่โลโก้ การตลาด ข้อความโฆษณา และประสบการณ์ในร้าน
Brand Kit มีอะไรบ้าง?
แบรนด์คิท คือเอกสารหรือคู่มือที่มีข้อมูลทั้งหมดที่คนคนนั้นจำเป็นต้องใช้เพื่อนำแบรนด์ของคุณไปใช้ในสถานการณ์ต่างๆ แบรนด์คิทเกือบทั้งหมดจะมีชื่อบริษัทและโลโก้ ชุดสี และภาพที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้ แบรนด์คิทบางอันยังมาพร้อมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ก่อตั้งและทีมงาม เป้าหมาย และผลิตภัณฑ์ของบริษัท แบรนด์คิทมีประโยชน์กับทีมสื่อและประชาสัมพันธ์ แบรนด์แอมบาสเดอร์ ตัวแทนโฆษณาสินค้าและบริการ และอินฟลูเอ็นเซอร์ แบรนด์คิทช่วยให้แน่ใจว่าทุกคนที่พูดถึงแบรนด์ของคุณสามารถถ่ายทอดบุคลิกและน้ำเสียงของแบรนด์ของคุณได้อย่างถูกต้อง
จะสร้างแบรนด์ด้วยงบน้อยๆ ได้อย่างไร?
ในการสร้างแบรนด์โดยไม่มีงบ ให้คุณใช้ข้อมูลที่ระบุไว้ในบทความนี้ในการหาไอเดีย และถ่ายทอดสิ่งที่คุณคิดลงไปในกระดาษ เขียนทุกอย่างลง ตั้งแต่กลุ่มเป้าหมาย ไปจนถึงน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ เมื่อคุณวางแนวทางให้กับอัตลักษณ์แบรนด์ได้แล้ว คุณก็พร้อมที่จะสร้างแบรนด์ที่จดจำได้ง่าย ถ้าคุณไม่สามารถจ้างมืออาชีพมาช่วยในกระบวนการสร้างแบรนด์ได้ ก็ให้คุณใช้โปรแกรมฟรี เพื่อช่วยคิดชื่อบริษัท สร้างโลโก้ ออกแบบตัวอย่างสำหรับโพสต์บนโซเชียลมีเดีย และเขียนข้อความโฆษณาที่น่าสนใจ